โรคกรดไหลย้อน เข้าใจโรค เปลี่ยนตัวเองก็หายได้
ท้องอืด เฟ้อ เรอ เหม็นเปรี้ยว แสบร้อนกลางอก
โรคกรดไหลย้อน (Gastro esophageal Reflux Disease (GERD) มาจากคำว่า “Gastro esophageal” หมายถึง กระเพาะอาหาร และหลอดอาหาร (2) เกิดขึ้นเมื่อกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับเข้าไปในท่อบ่อยๆ (1) หากเริ่มมีอากาเหล่านี้ เช่น เริ่มมีกลิ่นปาก หูอื้อ ร้อนกลางอก เจ็บอก กลืนลำบาก ซึ่งเป็นอาการของกรด หรือน้ำย่อยในกระเพาะ ที่มีการไหลย้อนกลับขึ้นมาในทรวงอกหรือบริเวณหลอดอาหาร ทำให้เกิดการแสบร้อนเหม็นเปรี้ยว
โรคกรดไหลย้อนนี้ คือ ภัยร้ายที่ซ่อนตัวในมุมมืดของร่างกายที่ทุกคนกำลังละเลย ซึ่งการรักษากรดไหลย้อนให้หายขาด ต้องรู้สาเหตุแน่ชัด กรดไหล เดิมเป็นอาการที่ลุกล้ำชีวิตบุคคลวัยทำงาน แต่เห็นได้ว่าในปัจจุบันนั้นพบเพิ่มขึ้นอย่างจำนวนมากในกลุ่มวัยรุ่น โดยเฉพาะนักเรียนนักศึกษาที่ใช้ชีวิตแบบไม่ค่อยใส่ใจสุขภาพเท่าไหร่ หรือพบได้กับบุคคลทั่วไปมากขึ้นเรื่อยๆ หากยังคงละเลยด้วยการใช้ชีวิต ไม่รีบรักษานอกจากจะต้องทุกข์ทรมานจากอาการดังกล่าวแล้ว หรืออาจจะมีโอกาสเป็นมะเร็งได้
ด้านการแพทย์แผนไทย
คำนิยามที่ใช้ในทางแพทย์แผนไทย “ผู้ไข้” หมายถึง คนไข้ หรือผู้ป่วย ในทางแพทย์แผนปัจจุบัน และ “กองธาตุ” คือ ธาตุที่ประกอบขึ้นในร่างกายคน มี 4 กอง คือ ดิน น้ำ ลม และไฟ
สำหรับด้านการแพทย์แผนไทยนั้น ได้กล่าวถึงทั้งอวัยวะตับ และกระเพาะอาหาร ธาตุดินไม่ว่าจะลำไส้ หรืออาหารเก่าใหม่ที่ทาน เพราะกลุ่มธาตุดิน คือ หูรูดตรงกระเพาะอาหารหลอดอาหารถูกแก๊สดันให้เปิด แล้วกรดต่างๆ ย้อนขึ้นมาด้านบนระบบย่อยอาหารแกนกลางลำตัว
ในทางแพทย์แผนไทยนั้น กรดไหลย้อน เรียกชื่อว่า “กษัยท้น” คำว่า กษัยในทางแผนไทย คือ ความเสื่อม ท้น คือ ล้น หรือเกินมา ตามคัมภีร์กษัยกล่าวว่า “กษัยท้น เกิดเพื่อบริโภคอาหาร เมื่อท้องว่างอยู่ยังมิได้บริโภคอาหารก็สงบดี ครั้นบริโภคอาหารเข้าไปน้อยก็ดี มากก็ดี กระทำให้ท้นขึ้นมายอดอก ให้อาเจียน ให้แน่นอก และชายโครงหายใจไม่ตลอดท้องแน่นขึ้นมาแต่ท้องน้อยชักเอากระเพาะข้าวแขวนขึ้น” (3,4)
ในร่างกายทุกคนเรามีธาตุหลัก สี่ธาตุที่ประกอบขึ้นมา การไม่มีโรค หมายถึง ยังคงมีความสมดุล (Balance) ในธาตุหลักทั้งสี่ สำหรับกษัยท้นนี้นั้นเกี่ยวพันธ์กับ ธาตุไฟ ธาตุดิน และธาตุลม แบบแยกกันไม่ค่อยออกโดยพฤติกรรมการใช้ชีวิตต่างๆ การทานอาหาร และการพักผ่อน การนอนหลับเป็นเวลาความเครียด เหล่านี้สัมพันธ์กับธาตุไฟกองต่างๆ เหตุปัจจัยการก่อโรคภายนอก
นั่นคือทำให้น้ำย่อยพิการ และน้ำย่อยถือเป็นดีพัทธะปิตตะที่สัมพันธ์กับตับ (ยกนัง) ที่ทำงานเกี่ยวกับน้ำย่อยทำงานแย่ลง (หย่อน = มีน้อย หรือ ประสิทธิภาพลดลง) ทำให้ไฟย่อยกองหนึ่งที่ชื่อ “ปริณามัคคี” หย่อน และเกิดการย่อยอาหารไม่สมบูรณ์เกิดอาหารเก่า (กรีสัง) ซึ่งเป็นธาตุดินชนิดหนึ่งรวมๆ กับอาการใหม่ (อุทรียัง) ที่ทานไปเกิดการทับถมบูดเน่าในลำไส้ ให้ทุกคนนึกถึง ผักที่เน่าๆ ปนๆ กันในที่สุดจึงเกิดการเน่าบูด และเกิดแก๊ส และดันขึ้นด้านบน และลมพิษนี้สามารถจะพัดเอาน้ำย่อยในกระเพาะอาหารขึ้นด้านบนด้วยจึงเกิด การแสบร้อนกลางอก เรอเหม็นเปรี้ยว นอนไม่ได้ มีอาการจุกอก
หูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง หรือ คือหูรูดที่รัดส่วนที่จะต่อไปที่กระเพาะอาหารเสื่อมสภาพ ไม่สามารถบีบรัดแยกส่วนของอวัยวะทั้งสองส่วนจากกันได้ดี หลอดอาหารบีบตัวผิดปกติ ทานชากาแฟ สูบบุหรี่เป็นประจำ มีพฤติกรรมการทานอาหารเผ็ดร้อน ทานอาหารดึกๆ ทานอาหารก่อนนอนและหรือทานอาการไม่เป็นเวลาบ่อยๆ ทานอาหารอิ่มมากเกินไป จนกองไฟย่อย (ปริณามัคคี) ย่อยอาหารได้ไม่หมด ใครก็ตามที่ต้องการจะรักษาให้หายขาด ไม่ให้กลับมาเป็นอีกนั้นไม่ค่อยสำเร็จ เพราะยาที่ใช้ในการรักษาจะบรรเทาอาการได้เพียงแค่ชั่วคราว บางรายหมดค่ารักษาแพงแต่พอทุเลาหรือหายแล้วก็จะกลับมาเป็นซ้ำอีกวนไปวนมาเรื่อยๆ แบบนี้ อาการทรมานมากๆ ที่สุดที่ผู้ไข้เป็น คือ การที่นอนไม่ได้หรือนอนไม่หลับ นอนราบแบบปกติไม่ได้ต้องพิงพนักหรือพิงหมอน
เดิม กรดไหลย้อนควรจะเกิดในวัยปัจฉิมหรือวัยทำงานเป็นส่วนมากช่วงอายุ มากกว่า 30 ปี แพทย์แผนไทยเรียกว่า “พาลผู้เฒ่า” แต่ในปัจจุบันนั้นตามที่กล่าวไว้ คือพบได้ทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะกลุ่มอายุมากที่กลุ่มวัยรุ่น
สาเหตุ โรคกรดไหลย้อนเป็นกลุ่มอาการโรคที่เกิดขึ้นในระบบทางเดินอาหาร พบมากในกลุ่มคนที่มีอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบัน เริ่มถดและถอยไปที่เด็กๆ หรือวัยรุุ่นมากขึ้น ปัจจุบันพบในเด็ก และคนหนุ่มคนสาวในวัยทำงานมากขึ้นมีบ้างในกรณีเด็กทารกที่มีความผิดปกติโดยกำเนิดของหูรูดที่ยังเจริญได้ไม่เต็มที่
แปลกใจไหม ทั้งๆ ที่ชื่อ คือ กษัย ภาวะเสื่อมที่จะเจอในคนอายุวัยปัจฉิม แต่มาเจอในวัยปฐมวัยมากขึ้นในปัจุบัน เพราะการใช้ชีวิตต่างๆ ที่เป็นตัวปัจจัยหลักที่ก่อเกิดโรคนั่นเอง
กษัย แปลว่า ความเสื่อม ถ้าปล่อยทิ้งไว้อาการอาจลุกลามกลายเป็นโรคร้ายต่างๆ ตามมา เช่น มะเร็งหลอดอาหาร หรือมะเร็งกระเพาะอาหาร ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดกรดไหลย้อน หรือกษัยท้น คือ เกี่ยวข้องหลักๆ ในเรื่องความเสื่อมของร่างกาย ที่เริ่มจากธาตุดิน คือ กระเพาะอาหารที่ย่อยได้ไม่ดี หรือ ไฟย่อยอาหารที่ชื่อ ว่า ปริณามัคคี หย่อนทำให้ ธาตุดิน คือ ตับ (ยกนัง) มีปัญหา หรืออ่อนแอ ลงธาตุเจ้าเรือนในร่างกายทุกคนมี สี่แบบหลัด คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ และมีส่วนที่ห้าคือ อากาศธาตุ โดยที่ธาตุไฟมีสี่กอง แต่กองไฟที่เกี่ยวกับโรคกรดไหลย้อน คือ กองย่อยอาหาร
อาการและสาเหตุของโรคกรดไหลย้อน
หากคุณมีกรดไหลย้อนในตอนกลางคืนคุณอาจจะมีอาการเหล่านี้ได้ (1) คือ
มีไอเรื้อรัง เกิดกล่องเสียงอักเสบ โรคหอบหืดใหม่หรือเลวลง รบกวนการนอนหลับ นอนไม่ได้ ทานละนอนจะมีอาการจุก แน่นกลางอก หายใจไม่พอหรือไม่อิ่มหรือไม่เต็มปอด ต่อเนื่องไปที่กลายเป็นหายใจสั้นหอบ เรอบ่อย เรอเหม็นเปรี้ยว หรือรู้สึกเหมือนมีอะไรติดที่คอตลอดเวลา ทานอาหารไปมีความรู้สึกว่าพุงแน่น ท้องแน่นไปหมด และเป็นๆ หายๆ ไม่ยอมหายสักทีอาการวนๆ อาหารเหล่านี้จะเรื้อรัง ทั้งนั้นคือ อาการของระบบการย่อยที่ไม่สมบูรณ์นั่นเอง
ทางการแพทย์แผนไทยแล้วก่อให้เกิดลมที่พัดขึ้นด้านบน หรือ ลมกองละเอียดนั่นเอง ไฟกองปริณามัคคี (ไฟสำหรับการย่อยอาหาร) หย่อน (ประสิทธิภาพลดน้อยไม่เต็มที่) มีผลต่อเนื่องไปที่ ตับทำให้การทำงานการย่อยอาหารไม่สมบูรณ์ทำให้เกิด อาหารที่ไม่ถูกย่อยนั้นเกิดการเน่าบูด ให้นึกถึงผักสดที่ทับถมในตลาดสด แล้วเกิดการเน่าทำให้เกิดกลิ่นและของเสีย มีน้ำดำๆ ไหลวน ดังนั้น จึงเกิดแก๊สในลำไส้แกนกลางของลำตัว ซึ่งสอดคล้องกับทางแพทย์แผนจีนที่พูดถึงโรคกรดไหลย้อนเกี่ยวข้องกับลมปราณของอวัยวะตับที่กระทบกระเพาะอาหารนั่นเอง มีความร้อนอุดกั้นที่อวัยวะทั้งสองได้
ปัจจัยหลักในการก่อให้เกิดโรคกรดไหลย้อน
ด้านการรับประทานอาหาร
- กินอาหารมากเกินไป จนไฟย่อยย่อยไม่ได้ ย่อยไม่สนิทพอ เกิดอาหารเน่าบูดคั่งค้างในกระเพาะอาหารและลำใส้ ทำให้มีท้องอืด เกิดกองลมในลำใส้กระเพาะได้
- กินอาหารรสจัดเกินไป (เป็นสาเหตุให้เพิ่มกองไฟแน่นอน)
- กินอาหารเน่าอาหารเก่าค้างคืน อาหารบูด อาหารหยาบ อาหารดิบต่างๆ (เมื่อไฟย่อย ย่อยไม่ดี สิ่งตามมา คือ บูดเน่าเสีย คั่งค้าง เกิดโรคร้ายตามมา คือ โรคมานกษัย หรือเกิดกลุ่มท้องมาร ต่างๆ ที่ไปเกี่ยวกับคัมภีร์โรคมานกษัย 18 จำพวกในแพทย์แผนไทย)
- กินอาหารย่อยยาก เช่น ของทอด ของผัด ของมัน หรือทานอาหารมื้อดึกก่อนเวลาจะนอนไม่นานทำให้อาหารไม่ย่อยหรือย่อยไม่สมบูรณ์บ่อยครั้ง
- กินยาที่มีผลต่อระบบทางเดินอาหาร และลำไส้อาจจะส่งเสริมให้เกิดโรคกรดไหลย้อน
- มีปัจจัยบางอย่างด้านพฤติกรรมจากการทานยา และสูบบุหรี่ที่ Harvard Health Publishing, (2019) (7) ได้แนะนำไว้ เช่น ดื่มเหล้า สูบบุหรี่จัด นิโคตินอาจจะไปส่งผลในการคลายหูรูดหลอดอาหารได้ การดื่มน้ำหวานต่างๆ ดื่มเครื่องดื่มอัดลม (Carbonated Beverages) การดื่มน้ำแบบนี้ทําให้คุณเรอ และจะส่งกรดเข้าไปในหลอดอาหาร ดื่มน้ำปกติแทนน้ำอัดลม
- พฤติกรรมการรับประทานแล้วนอน ทำให้ระบบย่อยอาหาร ย่อยได้ไม่หมด ด้วยสภาวะร่างกายที่เดิมไฟย่อยไม่ดีอยู่แล้ว (จะเป็นการดีที่เราควรนอนให้ศีรษะควรที่จะสูงกว่าเท้าของคุณ 6 ถึง 8 นิ้ว) (7)
- การรับยาบางกลุ่มบางชนิด(7) เช่น กลุ่มเอสโตรเจนวัยหมดประจําเดือน ยากล่อมประสาท (Tricyclic Antidepressants) ยาแก้ปวดต้านการอักเสบ จะไปคลายกล้ามเนื้อหูรูด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บิสฟอสโฟเนต (Bisphosphonates Like Alendronate, Fosamax) Ibandronate (Boniva) หรือ Risedronate (Actonel) ที่ใช้เพื่อเพิ่มความหนาแน่นของกระดูก อาจจะระคายเคืองหลอดอาหารได้ (7)
ด้านของอารมณ์ ความรู้สึก
มีภาวะที่ทำให้ธาตุไฟเกิดตลอดเวลา ทำให้เกิดทั้งธาตุลม และธาตุไฟ ในร่างกายสูง อาจจะมีเรื่องความ เครียดที่สะสมยาวนานเรื้อรัง มีภาวะอารมณ์โลภโกรธหลง มัวเมา วิตกกังวล อาฆาตพยาบาท มีความอิจฉาริษยา ทั้งหมดนี้ คือ กองไฟทั้งนั้น
ด้านสิ่งแวดล้อมภายนอก
อากาศที่กระทบร้อนเย็น บ่อยๆ เป็นประจำ เช่น ในห้องแอร์ ไม่ผ่อนคลาย สีเขียวภายนอก ร่างกายแข็งตึงตลอดเวลา ทำให้ลำไส้ไม่เคลื่อนตัวหรือเคลื่อนน้อย ส่งผลต่อไปที่เรื่องของ อิริยาบถ เพราะการนั่งนานเป็นประจำ ตัวอย่างเช่น การนั่งทำงานใช้คอมพิวเตอร์เป็นประจำไม่เคลื่อนไหวตัวเองไปทางใหน มีผลให้กระเพาะอาหาร และลำไส้ทำงานไม่เต็มที่ นั่นคือ ธาตุดินทั้งยี่สิบอย่างถูกกระทบ นั่นเอง การออกกำลังกายน้อย หรือขาดการออกกำลังกาย
อาการท้องผูก (ธาตุดิน กลุ่มเก่าคั่งค้างในลำไส้) คือ กรีสัง หรืออุจจาระ ไม่ออก มีการอั้นเป็นเถาดานในร่างกายแกนกลาง คนที่มีภาวะท้องผูกเรื้อรัง ทำให้มีของเสียตกค้างอยู่ภายในลำไส้ เกิดธาตุลมแปรปรวน หรือคือแก๊สภายในขึ้น หากขับลมไม่ออก จะตีขึ้นด้านบน และขับออกลงล่างไม่ได้ จึงตีขึ้นเบื้องบน ดังนั้นจึงเกิดเรอเหม็นเปรี้ยวนั่นเอง เพราะของบูดเน่าเสียมันอยู่ด้านล่าง แบบนี้พอเห็นภาพกันไหมว่า เราเดินไปโดยหอบเอาของเสียไปกับตัวเองทุกที่
การรักษากรดไหลย้อนในทางแพทย์แผนปัจจุบันนั้น จะจ่ายยาลดกรดเป็นหลัก และแนะนำปรับพฤติกรรมในผู้ป่วย ในด้านการทานอาหารให้ลดอาหารเผ็ด ทานให้เป็นเวลาขึ้น หรือแม้กระทั่งการผ่าตัดหูรูดกระเพาะอาหาร
ยาที่เกี่ยวข้องในการรักษาด้วยแพทย์แผนไทย
หลักการพื้นฐานของการรักษาด้วยแพทย์แผนไทย คือ การรุ ล้อม รักษา และบำรุง เพื่อให้เป็นต้นไม้ที่สดใสไม่เเห้งเหี่ยว เหมือนการตัดแต่ง พรวนดินให้ต้นไม้นั่นเอง ซึ่งยาที่ใช้มีดังนี้
- ยาหอมต่างๆ เพื่อช่วยดับกล่อมธาตุไฟลง และช่วยในการลดการหลั่งกรดได้
- ยากลุ่มสามัญประจำบ้าน 24 ขนาน ที่มีสรรพคุณ ขับลมและ รุเอาเมือกมัน ประเมหะของเสียต่างๆ ในลำไส้ออกไป เพื่อปรับการดูดซึมในลำไส้ให้ดีขึ้นลดการดูดซึมสารพิษที่ตกค้างในลำไส้
- ยากลุ่มรักษากษัย ตามกษัย 18 ประการ ลดอาการปวดตึงของร่างกาย ยารุลำไส้ต่างๆ
- หากมีอาการโรคกระเพาะอาหารจะมียากลุ่มที่มีฤทธื์สมานภายในร่วมด้วย
หมอไทยยาไทย หากต้องการใช้ยาไทยโปรดพิจารณาปรึกษาแพทย์แผนไทยเพื่อวางแผนการรักษา
โรคกรดไหลย้อนเป็นตัวอย่างที่ดีในการศึกษาทำความเข้าใจถึงโรคที่คนโบราณ และคนในยุคปัจจุบันที่เป็นกันมาก เพราะโรคนี้เกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารรสจัดมากเกินไป การใช้ชีวิตที่เสื่อมไว ไม่ใส่ใจสุขภาพ ตามใจตัวเองในการรับประทานอาหาร ไม่ว่าจะเรื่องของทานอาหารผิดเวลา ทานอาหารรสจัดต่างๆ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ถือเป็นปัจจัยภายนอก (7) เป็นพฤติกรรมก่อโรคที่ยังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบัน หากเราปรับพฤติกรรมเหล่านี้ที่เป็นปัจจัยก่อนโรคได้นั้น หมายความว่า ผู้ไข้จะสามารถหายจากโรคนี้ได้ด้วยตนเองแน่นอน
เอกสารอ้างอิง (Bibliography)
- www.mayoclinic.org/diseases-conditions/gerd/symptoms-causes/syc-20361940
- www.webmd.com/heartburn-gerd/guide/reflux-disease-gerd-1
- ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ภูมิปัญญาทางการแพทย์และมรดกทางวรรณกรรมของชาติ เล่ม 1,2. 2542. หนังสือแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ฉบับหลวง รวบรวมและพิมพ์โดยพระยาพิศณุประสาทเวช.
- เอกสารประกอบการเรียน คัมภีร์กษัย (มปป).กษัยเกิดเป็นอุปปาติกะ 18 จำพวก. ทพิดา ไทยภาวร คู่มือเตรียมความพร้อมสำหรับผู้ขึ้นทะเบียนสอบใบประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทยประเภทเวชกรรม. 1-5. ตำรากองประกอบโรคศิลป์. (2541, 2549 ).
- ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขา เวชกรรม เล่ม 1-3. กองประกอบโรคศิลปะ.
- พรบ ยา 2510. ธรณีสันฑฆาต. กลุ่มยาแก้กษัย.
- Harvard Health Publishing. (2019, September 24). 9 ways to relieve acid reflux without medication. Retrieved from https://www.health.harvard.edu/digestive-health/9-ways-to-relieve-acid-reflux-without-medication.