การแพทย์แผนไทย หรือ การแพทย์แผนโบราณ เป็นการดูแลสุขภาพทั้งสภาวะปกติ และสภาวะที่ผิดปกติ (เป็นโรค) โดยใช้ทฤษฎีความสมดุลของธาตุต่างๆ ในร่างกาย และกายวิภาคศาสตร์ (Anatomy) หลักวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์เข้ามาอธิบาย ตามหลักวิชาการหลักเวชปฏิบัติ จากหลักฐานสมัยอยุธยาพบว่า การแพทย์แผนไทยได้รับจากอายุรเวทอินเดียเป็นสำคัญ โดยกล่าวว่าหมอชีวกโกมารภัจจ์ (แพทย์ประจำกายของพระพุทธเจ้า) เป็นผู้แต่งคัมภีร์แพทย์ ครั้นพระพุทธศาสนาเริ่มเผยแผ่เข้ามาสู่ประเทศไทย พระสงฆ์ผู้เข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้นำความรู้ในการรักษาโรคเข้ามาใช้กับชาวบ้านด้วย จึงเกิดการผสมผสานกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนไทย
องค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทย ล้วนเป็นผลสืบเนื่องจากการสะสมประสบการณ์ในการต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยมองว่าจิตใจและอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายมนุษย์มีการทำงานที่สัมพันธ์และเป็นหนึ่งเดียว นอกจากนี้ยังสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงจักรวาล การแก้ปัญหาจึงใช้วิธีแบบองค์รวม (Holistic) ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องของการแพทย์อย่างเดียวล้วนๆ แต่เป็นเรื่องของปรัชญาความคิดที่ครอบคลุมไปถึงการดำเนินชีวิตตามแบบวิถีชีวิตคนไทย
ทฤษฎีธาตุเจ้าเรือน
ตามทฤษฎีการแพทย์ไทย กล่าวว่า คนเราเกิดมาในร่างกายประกอบด้วยธาตุทั้งสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ (รูป 1) ซึ่งในแต่ละคนจะมีธาตุหลักเป็นธาตุประจำตัว เรียกว่า “ธาตุเจ้าเรือน” ซึ่งธาตุเจ้าเรือนนี้มี 2 ลักษณะ คือ ธาตุเจ้าเรือนเกิด ซึ่งจะเป็นไปตาม วันเดือนปีเกิด และธาตุเจ้าเรือนปัจจุบัน ที่พิจารณาจากบุคลิกลักษณะ อุปนิสัยและภาวะด้านสุขภาพ
เมื่อธาตุทั้งสี่ในร่างกายสมดุล บุคคลจะไม่ค่อยเจ็บป่วย หากขาดความสมดุลมักจะเกิดความเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกิดจาก จุดอ่อนด้านสุขภาพของแต่ละคนตามเรือนธาตุ ที่ขาดความสมดุล ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาความเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้น ด้วยการปรับพฤติกรรมการบริโภคอาหารของแต่ละคนในชีวิตประจำวัน โดยใช้รสของอาหารที่เป็นยามาปรับสมดุลของร่างกายเพื่อป้องกันความเจ็บป่วย
คัมภีร์แพทย์แผนไทย
คัมภีร์ที่เกี่ยวกับสาเหตุของการเกิดโรคโดยทั่วไป
- คัมภีร์เวชศึกษา กล่าวถึงสาเหตุการเกิดโรค และ วิธีการตรวจโรคต่าง ๆ
- คัมภีร์สมุฎฐานวินิจฉัย ซึ่งกล่าวถึงถึงสาเหตุการเกิดโรค โดยอาศัยทฤษฎีธาตุในการวินิจฉัยและพยากรณ์โรค
- คัมภีร์โรคนิทาน กล่าวถึงสาเหตุของโรค และ ความผิดปกติของธาตุต่าง ๆ และรสยาต่างๆ
- คัมภีร์ธาตุวิภังค์ เช่นเดียวกับคัมภีร์โรคนิทาน แต่มีรายละเอียดแตกต่างกัน และรสยาต่างๆ
- คัมภีร์ธาตุวิวรณ์ กล่าวถึงสาเหตุการเกิดโรค โดยอาศัยปัจจัยแวดล้อม และปัจจัยภายใน รวมถึงรสยาต่าง ๆ
คัมภีร์ที่เกี่ยวกับไข้
- คัมภีร์ฉันทศาสตร์ กล่าวถึงไข้ โดยอาศัยทฤษฎีธาตุ
- คัมภีร์ตักศิลา กล่าวถึง อาการและโรคไข้ต่าง ๆ
คัมภีร์ที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร
- คัมภีร์มุขโรค กล่าวถึงโรคในช่องปากและคอ
- คัมภีร์ธาตุบรรจบ กล่าวถึงโรคในระบบทางเดินอาหาร โดยพิจารณาจากอุจจาระ และใช้ทฤษฎีธาตุ
- คัมภีร์อุทรโรค กล่าวถึงโรคในช่องท้องและท้องเดินอาหาร
- คัมภีร์อติสาร เช่นเดียวกับคัมภีร์อุทรโรค แต่รายละเอียดแตกต่างกัน
คัมภีร์ที่เกี่ยวกับโรคสตรี และการตั้งครรภ์
- คัมภีร์ปฐมจินดา กล่าวถึง การปฏิสนธิและการตั้งครรภ์ ลักษณะสตรีต่าง ๆ โรคในเด็กแรกเกิด
- คัมภีร์มหาโชติรัตน์ กล่าวถึงโรคสตรี
คัมภีร์ที่กล่าวถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และทางเดินปัสสาวะ
- คัมภีร์มุจฉาปักขันทิกา
คัมภีร์ที่เกี่ยวกับโรคลม
- คัมภีร์ชวดาร กล่าวเกี่ยวกับโรคทางเดินปัสสาวะ หัวใจ และไต ซึ่งอธิบายโดยทฤษฎีลม
- คัมภีร์มัญชุสาระวิเชียร อธิบายที่ตั้งและการเรียกชื่อโรคลม
คัมภีร์ที่เกี่ยวกับความเจ็บป่วยเรื้อรัง
- คัมภีร์กษัย
คัมภีร์ที่เกี่ยวกับโรคที่เกิดขึ้นที่เยื่อบุผิว
- คัมภีร์ทิพยมาลา เกี่ยวกับฝีภายในร่างกาย
- คัมภีร์ไพจิตร์มหาวงศ์ กล่าวเกี่ยวกับฝี
คัมภีร์ที่เกี่ยวกับโรคตา
- คัมภีร์อภัยสันตา
บุคคลที่เกี่ยวข้องกับแพทย์แผนไทย
แพทย์แผนไทยประยุกต์ คือ บุคลากรทางการแพทย์สาขาหนึ่ง เกิดขึ้นจากแนวคิดของนายแพทย์ อวย เกตุสิงห์ ซึ่งต้องการพัฒนา และยกฐานะของการแพทย์แผนโบราณให้มีความเป็นวิทยาศาสตร์และมีหลักวิชาการรองรับในการอธิบาย อาจกล่าวได้ว่า แพทย์แผนไทยประยุกต์ เป็นบุคลากรการแพทย์สายพันธุ์ใหม่ของสังคมไทย ที่ครึ่งหนึ่งขององค์ความรู้จะต้องร่ำเรียนตามหลักวิชาการทางการแพทย์แผนปัจจุบัน ผสมผสานกับคัมภีร์แพทย์แผนโบราณของไทย รวมทั้งการประยุกต์ใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ (ตามระเบียบและข้อบังคับของสภาการแพทย์แผนไทย) สามารถวินิจฉัยตามหลักการแพทย์แผนปัจจุบัน เพียงแต่เมื่อถึงขั้นตอนในการรักษานั้น ต้องรักษาด้วยวิธีการการแพทย์แผนไทย อาทิ การใช้ยาสมุนไพร นวด อบ ประคบ นอกจากนั้น ยังสามารถทำคลอด และให้การบำรุงแม่และทารก ตามแนวทางการแพทย์แผนไทยเพื่อส่งเสริมสุขภาพ
แพทย์แผนไทยประยุกต์จะต้องสอบใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะหรือใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ สาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ โดยเฉพาะเสียก่อน จึงสามารถปฏิบัติงานในโรงพยาบาล หรือให้การรักษาแก่ผู้ป่วยได้ การสอบใบประกอบโรคศิลปะนั้น จะต้องสอบใบประกอบโรคศิลปะสาขาแพทย์แผนไทยประยุกต์เท่านั้น จึงจะเป็นแพทย์แผนไทยประยุกต์ที่สมบูรณ์และถูกต้อง นอกจากนี้ยังมีสิทธิ์ที่จะสอบใบประกอบโรคศิลปะหรือใบประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทยสาขาเวชกรรมไทย เภสัชกรรมไทย และผดุงครรภ์
ข้อมูลจาก th.wikipedia.org/wiki/การแพทย์แผนไทย